ช่วง 2 - 3 อาทิตย์ที่ผ่านมาได้ตะลอนๆไปพูดคุยกับชาวบ้านหลากหลายอาชีพเกือบ 40 คน จากธาตุพนมใต้สุดขึ้นมาถึงบ้านแพงเหนือสุด " ถึงการเลือกตั้ง สส. ปี 2554 " ในจังหวัดนครพนม ก็พบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ในวันนี้ ก็ยังเป็นคนไทยแบบเดิมๆที่ไม่ค่อยชอบพูดถึงการเมืองอย่างเต็มปากเต็มคำ ก็ไม่ทราบว่า เป็นเพราะความเขินอาย หรือ เบื่อหน่าย เมื่อเราแอบถามเรื่องการเมืองอย่างไม่ตั้งใจว่า ชอบ หรือ จะเลือก เบอร์อะไร พรรคอะไร ปรากฏว่า ส่วนใหญ่อมยิ้มแล้วบอกว่า อยู่ในใจไม่ ( มีวัน ) บอก มีเกือบ 10 คนที่ชักสีหน้าแล้วเดินหนีไปดื้อๆไม่เป็นมิตรไม่เป็นศัตรู แต่มีเพียง 6 คนที่ตอบเสียงดังฟังชัดว่า เลือกพรรคนั้น เบอร์นี้ ซึ่งเราก็จะไม่ ( มีวัน ) บอกว่า พรรคใด หรือ เบอร์ใด เช่นกันให้ใครได้ประโยชน์ นี่ก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวนิดเดียวของสังคมจังหวัดนี้ เมื่อเทียบจำนวนคน 40 กับคนมีสิทธิ์เลือกตั้งเกือบ 300,000 คนแล้ว นี่ก็คงไม่ใช่ " ข้อมูล " ที่สลักสำคัญอะไรที่ใครจะเอาไปใช้อ้างอิงได้

การแข่งขันโฆษณาหาเสียง ด้วยการโปรยนโยบายประชานิยมใหม่ๆ ที่สวยหรูและสุดแสนจะฝันหวาน ให้ประชาชน ของพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อหวังโกยคะแนนเสียงในการจัดตั้งรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ในระหว่างที่ชาวบ้านยังจมอยู่กับปัญหาเก่าๆที่ยังไม่ได้รับความสนใจ ก็สังเกตุว่า ไม่เห็นมีพรรคการเมืองใด ที่มีนโยบายจะแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของชาวบ้านอย่างจริงจัง โดยออกไปสำรวจสอบถามว่า เขาเดือดร้อนอะไร และ ต้องการให้แก้ไขในเรื่องใด เพื่อให้ตรงกับความต้องการของเขาจริงๆ
แต่จากการพููดคุยกับชาวบ้านหลายกลุ่มในชนบทรอบนอกถึง เรื่องที่พวกเขายังกังวลอยู่มาก ก็มีเช่น
- หนี้สินจากกองทุนหมู่บ้าน ที่ชาวบ้านไปผ่อนซื้อรถกระบะมาขับ ตั้งแต่เปิดโครงการกองทุนหมู่บ้าน ว่ากันว่า รถกระบะ 8 ใน 10 คันในแต่ละหมู่บ้าน ยังค้างชำระค่างวดรถมาร่วม 2 - 3 ปีแล้ว เมื่อรวมเงินค่างวดค่าดอกเบี้ยและเงินค่าปรับซึ่งขึ้นไปเท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้ การชำระหนี้รถจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ก็เป็นลักษณะเดียวกับคนเมืองใหญ่ที่มีปัญหาเรื่องบัตรเครดิต และ หนี้นอกระบบ แต่ได้ข่าวว่า พรรคภูมิใจไทย มีนโยบาย จะยกหนี้กองทุนหมู่บ้านฯให้ทั้งหมด 70,000 ล้านนั้น เราก็ว่าดี แต่ควรเป็นเงินของพรรคเองนะ ไม่ใช่เงินภาษี ส่วนใครที่กำลังคิดจะให้บัตรเครดิตชาวนา ก็ลองไปทบทวนใหม่
- งานโอทอป ทุกวันนี้ งานโอทอปเจ้าเล็กเจ้าน้อย ต่างโรยราล้มหายตายจากไปกว่าครึ่ง เมื่อนับจากช่วงแรกที่เปิดโครงการ เพราะชาวบ้านเขาก็แค่ทำได้ แต่ทำแล้วขายไม่เป็นเพราะไม่รู้จะขายใคร เนื่องจาก ชาวบ้านไม่มีความรู้เรื่องระบบการตลาดที่ดี จนทุนหายกำไรหด ที่เหลืออยู่ก็แค่ประคับประคองตัว โดยการกู้นอกระบบหมุนเวียนไปวันๆ ยกเว้นแต่รายใหญ่ๆที่ทำกันมานานก่อนที่จะเกิด " โอทอป " เท่านั้น ที่ยังคงแข็งแรงอยู่ แล้วชาวโอทอป เขาจะอยู่กันยังไง
ป้ายแบบนี้จะพบเห็นได้ตามหมู่บ้านตำบลรอบนอก ซึ่งชาวบ้านร้องเรียนว่า ลูกหลานเขาโดนรีดไถเป็นประจำ วัยรุ่นบางคนก็โดนยึดรถไป แล้วก็ไม่มีพ่อแม่เด็กคนใดใครกล้าไปทวงคืนจากตำรวจด้วย
" ใส่หมวกแล้ว ก็ยังตรวจใบขับขี่ "
ทั้งที่กฏหมายเขียนว่า " จะว่ากล่าวตักเตือน หรือ เขียนใบสั่งก็ได้ "
แล้วสิทธิ " การว่ากล่าวตักเตือนของประชาชนหายไปไหน "
กฏหมาย กับ คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อะไรใหญ่ สำคัญ กว่ากัน ?
- การกวดขันของตำรวจจราจร ที่คึกคักและเฟื่องฟูที่สุด นับแต่รัฐบาลไทยรักไทย มีโครงการเอื้ออาทรตำรวจ โดยได้ปรับปรุงการจ่ายสินบนเงินรางวัลค่าปรับการจับกุมความผิดจราจรทางบก จากเดิม ไม่เกินคนละ 3,800 บาท ไปเป็นไม่เกินคนละ 10,000 บาท ต่อเดือน ( แถมเดือนไหนจับได้น้อยก็เบิกเงินอุดหนุนมาเพิ่มให้ ) ในปี 2546 เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ตำรวจจราจรเป็นต้นมา ( แต่ไม่ได้รักคนยากคนจน เหมือนปากว่าเลย ) ซึ่ง เราจะสังเกตุเห็นความฮึกเหิมขยันขันแข็งตั้งด่านตรวจน้อยใหญ่อย่างเอาเป็นเอาตาย ( ตั้งด่านตรวจ ที่ทำถูกต้องตามระเบียบมีบ้าง แต่ไม่ถูกต้องเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งฟ้องเอาผิดระเบียบวินัยได้ ) เพื่อกวดขันวินัยจราจร เช่น การตรวจจับยึดรถดัดแปลง ( ส่วนใหญ่เป็นรถเก่าที่ซ่อมมาใช้งานไม่มีทะเบียน ) การตรวจใบขับขี่และการไม่สวมหมวกกันน็อค ทำให้ชาวบ้านเสียทั้งเงินและเวลา ที่น่าเศร้าคือ มีการจับหลายรูปแบบ ตั้งแต่แอบซุ่มข้างทาง พอรถผู้ไม่สวมหมวกกันน็อค ผ่านมา ก็กระโดดออกมามือกางกั้นให้หยุดแล้ว ปิดกุญแจรถแล้วกระชากไป ตลอดจนการขี่รถไล่จับวัยรุ่นดุเดือดยิ่งกว่าในหนัง บ้างก็ถีบคนขี่ตกรถก็มี แต่สรุปแล้ว ตำรวจมีรายได้เพิ่มจากเงินค่าปรับปีละนับหลายสะตังค์ ยังไม่รวมมูลค่ารถมอเตอร์ไซต์ที่ถูกยึดไปเก็บไว้ที่สถานีตำรวจ ปีๆนับร้อยคัน ซึ่งต่อมาก็มีพ่อค้ามาประมูลไปในราคาถูกทุกปี ( เงินไปไหนไม่ทราบ ) นับว่า เรื่องการกวดขันจับปรับของตำรวจจราจรเพื่อหวังเงินสินบนรางวัลเป็นที่ตั้งนี้ ได้สร้างความทุกข์ผสมความแค้นเคืองใจให้กับชาวบ้านผู้มีรายได้น้อย หรือ ชาวรากหญ้า มานานนับ 8 ปีแล้ว





หากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คิดว่า การปฎิบัติงานเช่นนี้เป็นเรื่องที่สมควร และ อยากทำให้ถูกต้องโดยไม่ต้องการให้ถูกกล่าวหาว่า ไปริดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานอันพึงมีของประชาชน ก็ควรไปแก้กฏหมาย พรบ.จราจรทางบก 2522 มาตรา 140 โดยการตัดคำว่า " ว่ากล่าวตักเตือนผู้ขับขี่ " ออกเสีย ไม่เช่นนั้น จะเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฏหมาย มาข่มเหงประชาชน
พรรคการเมืองใด จะรับพิจารณาแก้ไขผลงานที่เป็น มรดกบาปจากรัฐบาลไทยรักไทย ในเรื่องนี้ โดยการริบเงินรางวัลสินบนค่าปรับต่างๆของตำรวจจราจร ให้เข้าคลังหลวงทั้งหมดเสีย ( เพื่อจะได้นำไปพัฒนาประเทศในประโยชน์อื่นๆได้ ) จากเดิมที่เงิน 100 บาทเคยกันให้ตำรวจผู้จับกุมถึง 95 บาท แต่ส่งเข้าคลัง เพียงแค่ 5 บาท ทั้งที่รัฐเป็นผู้เสียหาย เพราะประชาชนทำผิดกฏหมาย แต่เงินค่าปรับ ทำไมต้องเข้ากระเป๋าตำรวจเกือบทั้งหมด ซึ่งดูแล้วมันไม่คุ้มกับค่าพิมพ์ใบสั่งเลย และให้ เสนอ โอนงานรักษา พรบ.จราจรทางบก ซึ่งทางตำรวจ ขาดแคลนทั้งรถทั้งคนแถมน้ำมันก็ไม่ค่อยมี มิหนำซ้ำ ก็มีปัญญารักษากฏหมายได้แค่เวลาราชการ ( 8 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น หรือทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ) ทั้งๆที่รถราวิ่งกันทั้งวันทั้งคืน ไปให้หน่วยราชการท้องถิ่น เช่น เทศบาล และ อบต. เป็นผู้ดูแลแทนเสีย เพราะมีกฏหมายรองรับบางส่วน และมีความพร้อมทุกอย่างทั้งคน รถ น้ำมัน และ เวลา
หากมีพรรคใดรับปากว่า จะแก้ไขเรื่องจราจรข่มเหงประชาชนได้ ชาวบ้านเขาคงจะกาคะแนนให้จนหมดตัว